วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2562

ชีวิตที่มีความหมายของคนสร้างฝาย ... คุณย่ายิ้ม



 ใครที่ได้รับรู้เรื่องราวของ "ย่ายิ้ม" หรือ "ย่ายิ้ม เย้ยยาก" คงจะอดอมยิ้มตามไปกับแกไม่ได้แน่นอน เมื่อหญิงชราวัย 80 กว่า ที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่าทึบเพียงลำพัง กลับไม่เคยอยู่ห่างจากคำว่า "ความสุข" เลย 
          นั่นเพราะทุก ๆ วัน "ย่ายิ้ม" จะไม่ปล่อยให้เวลาเดินผ่านไปอย่างไร้ค่า และสิ่งมีค่าที่ "ย่ายิ้ม" ทำก็คือ การเดินถือจอบเก่า ๆ 1 อัน ขึ้นเขาไปตัดไม้ไผ่หลายสิบท่อนเพื่อมาสร้างฝาย โดยหวังจะให้ผืนป่าประเทศไทยเป็นผืนป่าที่ชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ ตามพระราชดำรัสของพ่อหลวงที่คุณย่ายิ้มเคยได้ยินได้ฟังมานานนับสิบปีแล้ว และตั้งแต่นั้นมา คุณย่ายิ้มก็จำคำสอนของพ่อหลวงใส่เกล้า และปณิธานกับตัวเองว่า จะต้องสร้างฝาย เพื่อสร้างประโยชน์ต่อแผ่นดินไทย

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสังขารของหญิงชราจะร่วงโรยลงไปตามวัย แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้ "ย่ายิ้ม" หยุด เพราะแกถือคติว่า วันนี้มีแรงแค่ไหนก็ทำเท่านั้น พอตื่นเช้าขึ้นมาในวันรุ่งขึ้น ก็ลุกขึ้นมาทำใหม่ แต่จะมีเพียงวันโกนและวันพระเท่านั้น ที่ "ย่ายิ้ม" จะหยุดพักจากการสร้างฝาย และการหยุดของแกไม่ใช่การหยุดพักผ่อนกาย เพราะในวันดังกล่าวนั้น ย่ายิ้มจะเดินทางลงจากเขากว่า 8 กิโลเมตร เพื่อไปเข้าวัดเข้าวาทำจิตใจให้สงบผ่อนคลายจิตใจ

          หลายคนสงสัยว่า "ย่ายิ้ม" จะมาลำบากทำไม ทั้งที่ลูก ๆ หลาน ๆ ของแกก็มีฐานะและอ้อนวอนให้ "ย่ายิ้ม" กลับไปอยู่บ้านด้วยกัน แต่ "ย่ายิ้ม" กลับเลือกที่จะอยู่ที่นี่ นั่นเพราะแกคิดเสมอว่า "ทางสวรรค์จะเป็นทางที่รก ทางนรกจะเป็นทางที่เรียบ..."
          ตลอดหลายปีกับชีวิตกลางป่าเขาเพียงลำพัง ย่ายิ้ม สารภาพว่า เมื่อไหร่ที่ลูกขึ้นมาหาและมานอนด้วย แกก็ดีใจทุกครั้ง แต่พอกลับกันไป แค่เห็นเดินคล้อยหลังก็นั่งใจละห้อยแล้ว...แต่ถึงอย่างไร แกก็ยังยืนหยัดว่าจะขออยู่ในป่าในเขาอย่างนี้ไปจนตาย และคำขอสุดท้ายที่ฝากไว้กับลูกคือ...ถ้าแม่ตาย ก็ให้เผาให้ฝังไว้ที่ไร่บนเขานี้

          "ย่าไม่อยากตายหรอกหนา แต่ไม่เคยกลัว ถึงเวลาจะต้องละแล้ว ก็ต้องไป..." ถ้อยคำนี้บอกได้เป็นอย่างดีว่า หญิงชราวัย 80 เข้าใจถึงแก่นแท้ของชีวิตแล้วจริง ๆ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพ็ญลักขณา ขำเลิศ กับบทบาทหน้าที่พยาบาลไร้หมวก

    ณ โรงพยาบาลภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นภาพของ "เพ็ญลักขณา ขำเลิศ" พยาบาลวิชาชีพที่ประจำอยู่ในโรงพย...